งานราชการ

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แฟรนไชส์..เครปเล็ก

แฟรนไชส์
เครปเล็ก ชิ้นละ 10 บาท
ด้วยการสังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า กลายเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้ธุรกิจ
ขนมเครปยี่ห้อ “Nแอนด์B” ที่เดิมได้รับความนิยมอยู่แล้ว ยิ่งเติบโตมากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ด้วยการพลิกโฉมจากเครปแผ่นใหญ่ มาทำเป็นเครปขนาดย่อม ใส่บรรจุภัณฑ์สวยงาม พร้อมหยิบซื้อได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว ช่วยให้สินค้าตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงใจ และก้าวข้ามจากเป็นแค่ขนมกินเล่นสำหรับเด็กหรือวัยรุ่น สู่สินค้าของฝากสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว

มนุษย์เงินเดือนล่าฝันขอเป็นเถ้าแก่
ธุรกิจเครป Nแอนด์B เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2541 โดยบุญประเสริฐ พู่พันธ์ และณัฐชยา อาจสุรินทร์ ซึ่งเวลานั้น ยังเป็นพนักงานประจำบริษัท ที่โดนลดเงินเดือนจากพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เพื่อจะหารายได้เสริมทดแทนเงินส่วนที่หายไป ประกอบกับมีฝันอยากเป็นเถ้าแก่ จึงลงทุนประมาณ 40,000 บาท เช่าพื้นที่เล็กๆ ในอิมพิเรียล สำโรง ทำธุรกิจขายขนมเครป
“ตอนที่กำลังคิดหาอาชีพเสริม ก็บังเอิญไปกินขนมเครปที่สวนสยาม เกิดถูกใจความอร่อย และรู้สึกว่าเป็นขนมที่วิธีทำมีเสน่ห์ เหมือนขนมแฟชั่น และตอนนั้นในแถบสมุทรปราการ ยังถือว่าแปลกใหม่ พวกเราเลยไปเรียนวิธีทำเครป แล้วเช่าพื้นที่ขายในอิมพิเรียล สำโรง ซึ่งวิกฤตปี 40 อีกด้านก็เป็นโอกาส เพราะก่อนหน้านี้ พื้นที่เช่าจะเต็มหมด และค่าเช่าก็แพงมาก แต่หลังฟองสบู่แตก พื้นที่ก็ว่างลง และค่าเช่าลดจากเดือนละ 3 หมื่นบาทเหลือ 8 พันบาท” บุญประเสริฐ เล่าย้อน ณัฐชยา เสริมต่อว่า ช่วงแรกทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับงานประจำ เช้าและเย็นจะดูแลร้านเอง ส่วนกลางวันให้ลูกจ้างเฝ้าร้าน โดยพยายามคิดค้นสูตรวิธีทำเครปให้มีรสชาติแตกต่างจากเครปทั่วไป จนได้แป้งสูตรพิเศษที่เนื้อบางกรอบ ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมาก ส่งให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และขยายสาขาออกไปอีกหลายแห่ง จนรายได้แซงเงินเดือนประจำไป 2-3 เท่าตัว จึงตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจเครปเต็มตัว


“มินิเครป”เปลี่ยนตลาดสู่ของฝากโดนใจ
บุญประเสริฐ เล่าว่า หลังทำธุรกิจมา 5-6 ปี แม้ทุกสาขาจะมียอดขายน่าพอใจ บางแห่งลูกค้ารุมแน่นถึงขั้นต้องต่อคิว แต่ยังมีข้อคาใจว่า หากเทียบด้านรายได้กับร้านขนมแบรนด์เนม โดยเฉพาะร้านโดนัทเจ้าดัง ร้านเครป Nแอนด์B รายได้ยังต่ำกว่ามาก ทั้งๆ ที่จำนวนลูกค้าแทบไม่ต่างกัน

ใส่ในบรรจุภัณฑ์เหมาะแก่การหยิบซื้อ

ข้อสงสัยดังกล่าว บุญประเสริฐได้กลับมาทบทวนดูพฤติกรรมผู้บริโภคของตัวเอง จนพบจุดอ่อนประการสำคัญของการทำขนมเครป คือ ต้องทำทีละแผ่น ลูกค้าต้องเสียเวลารอนาน และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ยังจำกัดแค่เด็กและวัยรุ่น เพื่อแก้โจทย์เหล่านั้น เป็นที่มาของไอเดียเพิ่มเติมสินค้าใหม่ โดยปรับเครปให้มีขนาดเล็กลงใส่ในบรรจุภัณฑ์สวยงาม เหมาะซื้อกลับไปเป็นของฝาก ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้ ช่วยให้ธุรกิจเติบโตจากเดิมเป็นทวีคูณ

“จากที่ผมดูพฤติกรรมของลูกค้าพบว่า บางคนพอเห็นคิวยาวก็จะเซ็ง ขี้เกียจรอ ล้มเลิกความตั้งใจจะซื้อ รวมถึง คนกินเครปจะซื้อแล้วถือกิน ทำให้ปริมาณซื้อต่อหน่วยน้อย ผมเลยลองประยุกต์เครปให้มีขนาดเล็ก ทำลักษณะสำเร็จรูปใส่ในบรรจุภัณฑ์ดูดี ลูกค้าก็ไม่ต้องรอสามารถหยิบซื้อได้ทันที พร้อมกันนั้น ในร้านก็ยังทำสดๆ ใหม่ๆ ชิ้นต่อชิ้นควบคู่ไปด้วย เพื่อเรียกความสนใจจากลูกค้า ซึ่งหลังจากออกมินิเครป ช่วยให้ตลาดกว้างขึ้น โดยระหว่างที่เด็กๆ มาซื้อเครปแผ่นใหญ่ พ่อแม่ที่มาด้วยกันก็จะไปเลือกซื้อมินิเครปกลับไปเป็นของฝาก โดยเฉลี่ยลูกค้าที่เข้าร้านจะมีอัตราซื้อสูงขึ้น ครั้งละ 5 ชิ้นขึ้นไป อีกทั้ง ยังขยายตลาดไปสู่การรับทำตามออเดอร์ ส่งตามงานสัมมนาต่างๆ โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ ช่วยกระตุ้นยอดขายให้สูงกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว มียอดขายมากกว่า 1 แสนชิ้นต่อเดือน” เจ้าของธุรกิจ เผย

ณัฐชยา อธิบายว่า แป้งของมินิเครป ลักษณะจะหนานุ่ม อยู่ตรงกลางระหว่างแป้งขนมโตเกียวและขนมเครป มีไส้ให้เลือกทั้งคาวและหวานกว่า 15 ไส้ ทำให้ตอบความชอบของสมาชิกในครอบครัวได้ครบถ้วน เช่น น้ำพริกเผา ไส้กรอก พิซซ่าแฮม สังขยา สตรอเบอรี่ เป็นต้น ขายราคาย่อมเยา ชิ้นละ 10 บาท เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายกระเป๋าที่จะซื้อไปเป็นของฝาก นอกจากนั้น ในร้านยังมีเมนูอื่นๆ ได้แก่ ไส้กรอกทวิน ซึ่งเป็นไส้กรอกเกรดพรีเมียมม้วนด้วยแป้งเครป ชุดละ 2 ชิ้น ขาย 39 บาท ซูเปอร์เครป ให้เลือกได้ 2 ไส้ ราคาชิ้นละ 25 บาท (เพิ่มไส้ละ 5 บาท) และเครปหน้าพิซซ่า ราคาชิ้นละ 30 บาท
แตกไลน์แฟรนไชส์กระจายความบูม
จากอาชีพเสริมเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เมื่อปี พ.ศ.2551 ยกระดับเป็นบริษัท เอ็น แอนด์ บี พิซซ่าเครป จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีร้านสาขาของตัวเอง 15 แห่ง พนักงานประจำ 70 คน อีกทั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว (2552) ได้เปิดขายแฟรนไชส์ที่เน้นทำเลในดิสเคาน์สโตร์ ด้วยเงินลงทุน 49,000 บาท นับถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีสาขาสมาชิกแฟรนไชส์ทั่วประเทศแล้วถึง 90 จุด

เครปแผ่นใหญ่ สูตรแป้งบางกรอบ บุญประเสริฐ ให้เหตุผลการขายแฟรนไชส์เพราะเห็นว่า จะเกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ผู้ลงทุนได้มีอาชีพสร้างรายได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีจุดขายมากขึ้น กำลังซื้อวัตถุดิบต่างๆ ย่อมจะสูงตามไปด้วย ทำให้บริษัทมีศักยภาพต่อรองซื้อวัตถุดิบได้ในราคาถูกลง สำหรับการคุมคุณภาพแฟรนไชส์นั้น จะจัดอบรมก่อนเปิดร้าน มีทีมที่ปรึกษาด้านทำเล ทีมซุ่มตรวจคุณภาพ ประกอบกับดูยอดและปริมาณการสั่งวัตถุดิบของแต่ละสาขา ซึ่งจะรู้ถึงพฤติกรรมความเอาใจใส่ของสมาชิกแต่ละสาขา โดยที่ผ่านมา จากแฟรนไชส์ 90 สาขา มีอัตราปิดตัวเพียง 2 แห่ง ซึ่งเกิดจากปัญหาส่วนตัว ไม่ได้เกิดจากปัญหาธุรกิจ สำหรับกำไรเหลือจากยอดขายต่อหน่วย หักเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบอยู่ที่ 50% (ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าพนักงาน ค่าไฟฟ้า เป็นต้น) ส่วนอัตราคืนทุนจะขึ้นอยู่กับทำเล เฉลี่ยประมาณ 1-3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของแฟรนไชส์นั้น บุญประเสริฐ ระบุว่า เดิมให้สมาชิกซื้อวัตถุดิบต่างๆ เอง ตามสเปกและยี่ห้อที่บริษัทกำหนด แต่เนื่องจากมีสมาชิกบางรายทำผิดข้อตกลง ทำให้ขนมไม่ได้คุณภาพเหมือนต้นตำรับ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อแบรนด์ ดังนั้น นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ได้ปรับสัญญา กำหนดให้แฟรนไชซีต้องรับวัตถุดิบทั้งหมดจากส่วนกลาง ซึ่งจะเป็นราคาที่ถูกกว่าหาซื้อเองตามท้องตลาด รวมถึง พิจารณาต่อสัญญาปีต่อปี ในรายที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จะไม่ได้รับสิทธิ์ต่อสัญญา ตั้งเป้าอินเตอร์แบรนด์ ขายทะลุ 10 ล้านชิ้นต่อปี บุญประเสริฐ ยอมรับว่า ขณะนี้ มีผู้สนใจรอต่อคิวขอซื้อแฟรนไชส์อีกไม่ต่ำกว่า 100 ราย อย่างไรก็ตาม จะพยายามคัดกรองผู้ร่วมธุรกิจให้ดีที่สุด โดยปล่อยแฟรนไชส์ให้เฉพาะผู้เหมาะสมและตั้งใจจริงๆ เพื่อป้องกันแบรนด์สูญเสียคุณภาพ ในส่วนการผลิต บริษัทยังมีความพร้อมอีกสูง สามารถป้อนวัตถุดิบรองรับได้ถึง 200 สาขา สำหรับเป้าของธุรกิจ ภายในประเทศ จะขยายสาขาถึงสูงสุด 200 สาขา ในอีก 2 ปี และเพิ่มยอดขายขนมให้ถึง 10 ล้านชิ้นต่อปี จากนั้น เมื่อตลาดในประเทศแข็งแรงแล้ว จะยกระดับสู่อินเตอร์แบรนด์ นำแฟรนไชส์ Nแอนด์B ไปบุกตลาดเพื่อนบ้านต่อไป


สรุปการลงทุนแฟรนไชส์ “Nแอนด์B”

1. เงินลงทุน 49,000 บาท ได้รับคีออส พร้อมอุปกรณ์พร้อมเปิดร้าน รวมถึง การฝึกอบรมความรู้ ทั้งภาคทฤษฏี และปฏิบัติต้องผ่านการสัมภาษณ์เพื่อพิจารณาการร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ โดยจะเน้นดูจากความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง ความพร้อมด้านเงินลงทุน เวลาในการดูแลธุรกิจ และความเชื่อมั่นใจสินค้าของบริษัท
2. ต้องรับวัตถุดิบจากบริษัท และปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา
3.กำไรต่อหน่วย ประมาณ 50% (คิดเฉพาะวัตถุดิบ ยังไม่รวมค่าเช่าพื้นที่ ค่าพนักงาน ฯลฯ)
4.ทำเลที่เหมาะสม ควรอยู่ในพื้นที่คนเดินผ่าน หรือทางเข้าออกประตู เหมาะที่ลูกค้าอยากซื้อกลับไปฝาก หรือซื้อกลับไปกินที่บ้าน
5. ทำเลต้องห้าม ไม่ควรอยู่ในศูนย์อาหาร เพราะธรรมชาติของผู้บริโภค เมื่อกินอาหารหลักจนอิ่มแล้ว มักจะไม่ค่อยซื้อขนมกลับบ้าน
6. แฟรนไซซอร์ สนับสนุนแฟรนไซซี โดยทำประชาสัมพันธ์ผ่านการลงโฆษณาทางนิตยสาร และสื่อต่างๆ
7. พิจารณาต่อสัญญาปีต่อปี ในรายที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จะไม่ได้รับสิทธิ์ต่อสัญญา
8. อัตราคืนทุนขึ้นอยู่ที่ทำเลร้าน โดยเฉลี่ยประมาณ 1-3 เดือน


โทร.0-2334-2188 หรือ www.nbpizzacrepe.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น