งานราชการ

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อาชีพทำเงิน..เพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น

กระแสการรักษาสุขภาพถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง การออกกำลังกาย อาหารเสริม สมาธิและดนตรีถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดสุขภาวะต่างๆ และอาหารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ อาหารที่ได้จากเห็ดชนิดต่างๆ นับว่าเป็นแหล่งโปรตีนจากธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จากคนที่ไม่เคยหรือไม่ชอบทานเห็ด ก็กลับมาบริโภคเห็ดกันเพิ่มขึ้นทุกวัน

เป็นโอกาสสำหรับอาชีพใหม่ๆ ที่มีตลาดเปิดกว้างขึ้น นั่นก็คือ “อาชีพเพาะเห็ด”และ 1 ในเห็ดเพื่อสุขภาพที่ถูกพูดถึงกันอยู่เสมอๆ ก็คงไม่พ้นเห็ดโคนญี่ปุ่น

ปัจจุบัน การเพาะเห็ด นับเป็นอาชีพที่ให้รายได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ ซึ่งหากมีการสำรวจให้ดีจะพบว่ามีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าสู่อาชีพนี้กันเป็นจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะตลาดแน่นอน และเป็นสินค้าเกษตรที่ให้คุณค่าทางอาหารและประโยชน์ต่อร่างกาย
อย่างที่ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่เข้าสู่โครงการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นโดยยึดเป็นอาชีพหลักเพื่อ
สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งนายสังเวย นาคน้อย เจ้าพนักงานการเกษตร 6 สำนักงานเกษตรอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เล่าให้ฟังว่า เดิมทีกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีนโยบายให้จัดทำ 1 ตำบล 1ฟาร์ม เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพเอง โดยในฟาร์มที่ทำจะมีการทำเกษตรหลายอย่าง เช่น การทำการเกษตรผสมผสาน การเลี้ยงปลา และการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นในโรงเรือน นายสังเวย บอกว่า การเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น แม้เป็นอาชีพที่ใช้ต้นทุนสูงเริ่มแรกเพื่อปลูกโรงเรือนเพาะเห็ดประมาณ 5-6 หมื่นบาท แต่หากพิจารณาโดยรวมและการทำรายได้ระยะยาวแล้ว การลงทุนทำอาชีพนี้นับว่าคุ้มค่ามากและเห็นผลไว ตลาดก็แน่นอน นอกจากนี้เห็ดโคนญี่ปุ่นยังมีคุณสมบัติที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี อย่างที่ทำโรงเรือนเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรและผู้สนใจในพื้นที่ ปรากฏว่า ผลผลิตเก็บได้ตลอด สัปดาห์หนึ่งจะมีตลาดเข้ามารับผลผลิตไม่ต่ำ 100 กิโลกรัม นับเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ทั้งปี และยังเป็นแหล่งให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้สนใจรายอื่น ๆ ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพของตนเองอีกด้วย

การเก็บเห็ดโคนญี่ปุ่นเพื่อขาย สามารถเก็บได้เป็นอาทิตย์ไม่ต้องรีบ โดยนำเห็ดสดใส่ถุงพลาสติกแล้วนำน้ำแข็งโปะนอกถุงเพื่อรักษาความสดของเห็ดได้นาน ราคาเห็ดโคนญี่ปุ่นที่จำหน่ายหน้าโรงเรือนจะขายส่งที่กิโลกรัมละ 150 บาท แต่ถ้าเป็นราคาตลาดเมื่อถึงมือผู้บริโภคจะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท หาได้ไม่ยาก และยังมีประโยชน์ต่อร่างกายเพราะมีธาตุอาหารมาก นายสังเวย บอกว่า ขณะนี้มีการขยายโรงเรือนเห็ดจากความสนใจของเกษตรกรไปมากแล้วกว่า 10 โรงเรือน และในอนาคตยังจะขยายโรงเรือนเพาะเห็ดออกไปอีก เนื่องจากเป็นอาชีพที่เกษตรกรสามารถทำได้ โดยกู้เงินจาก ธกส. ซึ่งปล่อยสินเชื่อให้ง่าย เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่เห็นรายได้หมุนเงินผ่อนใช้เร็ว

Tips : เห็ดยานางิหรือเห็ดโคนญี่ปุ่น Pholiota cylindracea เดิมเป็นเห็ดที่เกิดในท่อนไม้ผุตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันได้มีการศึกษา และพัฒนาการเพาะเลี้ยงในเมล็ดธัญพืช แล้วเปลี่ยนมาเป็นขี้เลื่อยที่เพิ่มอาหารเสริมในอัตราที่เหมาะสมทำให้กับเห็ดชนิดนี้เจริญได้ดีในเวลาต่อมา เห็ดยานางิ เป็นเห็ดที่มีรสชาติดี โดยมีลักษณะเนื้อดอก ก้านดอก มีความกรอบแน่น เนื้อคล้ายเห็ดโคน กลิ่นหอมนิยมใช้ประกอบอาหารหลายชนิด นอกจากนี้ยังสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้ นานกว่า 1 สัปดาห์ โดยยังมี ความสด รูปร่าง ขนาดน้ำหนัก และสีสรร ไม่เปลี่ยนแปลง การเพาะเลี้ยงสามารถกระทำได้ ง่ายเหมือนการเพาะเห็ดถุงทั่วไป และยังเพาะเลี้ยงได้ตลอดปี จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่มีอนาคต
สัณฐานวิทยา หมวกเห็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-10 ซม. ดอกเห็ดที่ออกใหม่ จะมีลักษณะกลม ขนาดเล็ก ตรงกลางหมวกจะนูนสูงขึ้นมา ดอกสีน้ำตาลเข้ม มีเยื่อหุ้มสีขาวอยู่บริเวณใต้หมวก เมื่อดอกเห็ดแก่สีของหมวกจะซีดลงเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตรงกลางหมวกที่ เคยนูนจะยุบและแบนราบ ขนาดดอกจะขยายใหญ่ขึ้นจนเยื่อหุ้มส่วนล่างใต้ดอกเห็ดจะฉีกขาด แล้วเปลี่ยนแปลงเป็นวงแหวนสีน้ำตาลเข้มติดอยู่ที่ก้านดอกเห็ด เมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่วงแหวนนี้จะเห็นไม่ชัดเจน สปอร์ ที่ครีบเห็ดมีลักษณะกลมรีเป็นรูปไข่ สีน้ำตาลเข้ม ส่วนของก้านดอกจะกลมและค่อนข้างยาวประมาณ 5-11 ซม. มีสีขาว แต่จะมีเส้นสีน้ำตาลแทรกอยู่ ดอกอาจเกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ การเก็บเกี่ยวจะทำได้ง่าย เนื่องจากส่วนรากยึดติดกับวัสดุเพาะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและไม่ติดแน่น

สูตรการทำก้อน
สูตรที่ 1

  1. ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 ก.ก.
  2. รำละเอียด 7 ก.ก.
  3. ภูไมท์ซัลเฟต 3 ก.ก.
  4. ดีเกลือ 0.2 ก.ก.
  5. ยิปซัม 1 ก.ก.
  6. ปูนขาว 1 ก.ก.
  7. ความชื้น 65 - 70 %
  8. ความเป็นกรดด่าง 5.5 - 7

สูตรที่ 2 ให้เปลี่ยนจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา เป็นฟางข้าวสับ 100 ก.ก. ส่วนรายละเอียดอย่างอื่น เหมือนสูตรที่ 1

สูตรนี้ต้องหมักวัสดุกับส่วนผสมต่างๆ คลุกเคล้าให้เข้ากันยกเว้นรำละเอียดทิ้งไว้นาน 7 วัน โดยกลับกองฟางหมักทุก 3 วัน จนกระทั้งไม่มีกลิ่นแอมโมเนีย ปรับความชื้น 65-70 % บรรจุวัสดุตามสูตรทั้ง 2 ลงในถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 7 x 12 นิ้ว หนักถุงละ 1 กิโลกรัม สำหรับขี้เลื่อย และ 500-800 กรัม สำหรับฟางข้าวสับ ใส่คอขวด จุกสำลีใช้ฝาครอบพลาสติกปิดจุกสำลีกันเปียกน้ำ นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งแบบลูกทุ่งใช้เวลา 2-4 ชม.ที่อุณหภูมิ 90-100 ํC ทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นใส่หัวเชื้อเห็ด โดยเทเมล็ดข้าวฟ่างซึ่งมีเส้นใยเห็ดเจริญคลุมอยู่ ลงถุง อาหารผสม ถุงละประมาณ 15-20 เมล็ด ในห้องที่ไม่มีลมโกรก และสะอาด นำไปบ่มไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิประมาณ 25-30 ํC เส้นใยเห็ดจะเจริญเต็มถุงวัสดุเพาะประมาณ 30-45 วัน
การทำให้เกิดดอกเห็ดและเก็บเกี่ยว เมื่อเส้นใยเห็ดเดินเต็มถุง ย้ายก้อนเชื้อไปยังโรงเรือนเปิดดอก ซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ 25-30 ํC และความชื้นประมาณ 80-90 % การเปิดดอกโดยถอดจุกสำลีออกนำถุงก้อนเชื้อมาวางเรียงไว้บนชั้นเพาะในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ในช่วงเช้าและบ่ายจะให้น้ำก้อนเชื้อและบริเวณภายในโรงเรือน วันละประมาณ 2 ครั้ง เพื่อให้มีความชื้นสม่ำเสมอ หลังเปิดดอกประมาณ 5-7 วันจะเกิดดอกเห็ด และสามารถนำไปบริโภคได้

สรุปแนวทางการผลิต
จากแนวทางการผลิตเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น ในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือน มกราคม 2548 -49 ที่ผ่านมา พบว่าสามารถให้ผลผลิตได้ดี ทั้งในวัสดุเพาะที่มาจากขี้เลื่อย และฟางข้าว แต่วัสดุเพาะที่เป็นปลายฟางข้าวนวดนั้น มีแนวโน้มที่เชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนเชื้อได้เร็วกว่า อีกทั้งการเกิดดอกในแต่ละรุ่นที่เร็วกว่าการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุเพาะ นั่นแสดงให้เห็นว่าฟางข้าวที่มีเหลือใช้ในเขตภาคอีสานจำนวนมากนั้นมีโอกาสในการพัฒนาเป็นวัสดุทดแทนการการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่มีราคาสูงมากในปัจุบัน สำหรับการเพาะเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเห็ดที่มีความต้องการของตลาดและมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 150 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น